ตาเสือ ๕

Dysoxylum densiflorum (Blume) Miq.

ชื่ออื่น ๆ
ตาเสือดก, สังเครียด (ใต้); ตาเสือลางสาด (สุราษฎร์ธานี)
ไม้ต้นขนาดใหญ่ ต้นที่มีขนาดใหญ่มากโคนต้นมักมีพูพอนจำนวนมากเป็นสันสูงและยาวไปตามพื้น เปลือกต้นสีเขียวแกมสีเทาถึงสีน้ำตาลแกมสีเทา ค่อนข้างเรียบ มีช่องอากาศเล็ก มักแตกเป็นร่องเล็กหรือล่อนเป็นแผ่นเล็ก ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน มักหนาแน่นตามปลายกิ่ง มีใบย่อย ๑๑-๑๗ ใบ เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกัน รูปรีแกมรูปไข่หรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะ ออกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกตามซอกใบหรือตามกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ผลแบบผลแห้งแตก ทรงรูปไข่กลับถึงรูปกระสวย ผลแก่สีน้ำตาลแกมสีแดง เปลือกหยาบ มีขน เมล็ดสีดำ รูปทรงค่อนข้างรี ขั้วเมล็ดขนาดใหญ่ มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาวบริเวณขั้วเมล็ด

ตาเสือชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๐ ม. ต้นที่มีขนาดใหญ่มากโคนต้นมักมีพูพอนจำนวนมากเป็นสันสูงได้ถึง ๓ ม. ยาวไปตามพื้นได้ถึง ๕ ม. เปลือกต้นสีเขียวแกมสีเทาถึงสีน้ำตาลแกมสีเทา ค่อนข้างเรียบ มีช่องอากาศเล็ก มักแตกเป็นร่องเล็กหรือล่อนเป็นแผ่นเล็ก เปลือกชั้นในบาง สีชมพูอ่อน กิ่งอ่อนมีน้ำยางสีขาว

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน มักหนาแน่นตามปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๑.๕ ม. มีขนตามก้านใบและแกนกลางใบ มีใบย่อย ๑๑-๑๗ ใบ เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกัน รูปรีแกมรูปไข่หรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๕-๘ ซม. ยาว ๑๔-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนหรือเว้ารูปหัวใจ บางครั้งอาจเบี้ยว ใบย่อยที่ปลายสุดโคนมักเป็นรูปลิ่ม ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีจางกว่าและมีขน เส้นแขนงใบข้างละประมาณ ๑๔ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไป เส้นใบย่อยเห็นชัด ก้านใบยาว ๖-๑๑ ซม. โคนก้านป่อง มักเป็นร่องทางด้านบนใกล้โคน ก้านใบย่อยยาว ๐.๓- ๑ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะ ออกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกตามซอกใบหรือตามกิ่ง ยาวได้ถึง ๑๐ ซม. ใบประดับและใบประดับย่อยเล็ก รูปสามเหลี่ยม ยาวได้ถึง ๒ มม. มีขน ร่วงง่าย ดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ก้านดอกยาว ๒-๓ มม. มีขน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันคล้ายรูปถ้วยตื้น ยาวประมาณ ๒.๕ มม. มีขน ปลายแยกเป็นแฉกเล็กมาก ๔ แฉก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังสั้น ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปแถบแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาว ๐.๘-๑.๑ ซม. ปลายแหลม เรียงซ้อนเหลื่อมในดอกตูม ด้านนอกมีขน เกสรเพศผู้ ๘ เกสร โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวได้ถึง ๘ มม. ปลายหยักตื้น ๘ หยัก สีขาวอมเหลืองอ่อน ด้านนอกค่อนข้างเกลี้ยง ด้านในมีขน ส่วนปลายก้านชูอับเรณูที่แยกกันเล็กน้อยอยู่ใกล้ขอบปากหลอดและมีอับเรณูติดอยู่ด้านใน อับเรณูทรงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑ มม. จานฐานดอกรูปคล้ายหลอดสั้น ยาว ๓-๔ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขน มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวกว่าหลอดเกสรเพศผู้เล็กน้อย มีขน ยอดเกสรเพศเมียค่อนข้างกลมแป้น สีเหลือง กว้างประมาณ ๑ มม.

 ผลแบบผลแห้งแตก ทรงรูปไข่กลับถึงรูปกระสวย เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ ซม. ยาวได้ถึง ๔ ซม. ผลแก่สีน้ำตาลแกมสีแดง เปลือกหยาบ มีขน มีน้ำยางสีขาว ส่วนใหญ่แตกเป็น ๔ เสี่ยง แต่ละเสี่ยงมี ๑ เมล็ด หรือไร้เมล็ด เมล็ดสีดำ รูปทรงค่อนข้างรี กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. ขั้วเมล็ดขนาดใหญ่ มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาวบริเวณขั้วเมล็ด

 ตาเสือชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่เมียนมา ยูนนาน คาบสมุทรมาเลเซีย และอินโดนีเซีย

 ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาเสือ ๕
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dysoxylum densiflorum (Blume) Miq.
ชื่อสกุล
Dysoxylum
คำระบุชนิด
densiflorum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von (1796-1862)
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm (1811-1871)
ชื่ออื่น ๆ
ตาเสือดก, สังเครียด (ใต้); ตาเสือลางสาด (สุราษฎร์ธานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์